อาหารโรคไต ข้าวต้มปลา(1)

หลังจากพาคุณแม่ไปหาคุณหมอที่คลีนิก ด้วยอาการเจ็บคอมากมาย (ฤดูฝน อากาศจะชื้นมาก เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ควรจะต้องดูแลร่างกายให้มากเป็นพิเศษ หากมีอาการไอ วิธีที่ดีที่สุด คือ การจิบน้ำอุ่น เพื่อให้คอชุ่มชื้น การไอแบบไอจนหมดไส้หมดพุงนั้น นอกจากจะทำให้หลอดลมอักเสบ จนมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรงแล้ว ร่างกายยังรู้สึกปวดระบมไปทั้งตัวด้วย เพราะได้รับการกระทบกระเทือนจากการสะเทือนของการไออย่างรุนแรง) การออกไปหาหมอก็เลยทำให้ได้แวะไปกินข้าวข้างนอกบ้านกัน

การออกจากบ้านในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับมื้ออาหาร ส่วนใหญ่แล้ว เรา 2 แม่ลูกก็จะถือโอกาสชวนกันกินข้าวนอกบ้านเพื่อเป็นการเปลี่ยนรสชาติ และ บรรยากาศ (จากการทำกับข้าวกินกันเองทุกวัน) วันนี้เมนูอาหารที่เราเลือก คือ ข้าวต้มปลา

วิธีสั่งข้าวต้มปลาสำหรับคนที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย (ที่กำลังเตรียมตัวดำเนินเรื่องการล้างไต หรือ ฟอกเลือด) คือ ข้าวต้มแห้งใส่เนื้อปลา ไม่ใส่ชูรส น้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ ตังไฉ่ และ น้ำข้าวเปล่าๆ 1 ชาม (พยายามตัดรสชาติเค็มให้มากที่สุด เพราะถ้ากินลงไปก็จะทำให้ไปสะสมในร่างกาย แล้วจะไปอมน้ำทำให้ตัวบวม จนมีผลต่อเนื่องถึงน้ำท่วมปอดได้)

การสั่งข้าวต้มแห้ง เราจะได้เฉพาะข้าวต้มแห้งๆ ที่ไม่มีการใส่น้ำให้เป็นข้าวต้ม เพราะถ้าใส่น้ำให้เป็นข้าวต้ม ตามร้านข้าวต้มปลาส่วนใหญ่ จะมีน้ำแกงไว้ใส่ต่างหาก โดยเป็นน้ำแกงที่มีการปรุงรสชาติ (อาจจะโดยการใส่เกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ผงชูรส หรือซุปก้อนก็ตาม)  ไม่ใช่น้ำข้าวต้มแบบที่เราต้มกินเองที่บ้าน สีน้ำข้าวต้มตามร้านจึงไม่ใช่สีขาว แต่เป็นสีที่ดูก็รู้ว่าเค็ม ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตอย่างเด็ดขาด

เนื้อปลาลวก ในส่วนของเนื้อปลาก็จะมีรสชาติเค็มอยู่แล้ว เพราะการล้างปลาให้หายคาว เราก็จะล้างคาวปลาด้วยน้ำเกลือ แต่ร้านอาหารที่อาหารสดอยู่เสมอ เจ้าของร้านมักจะเน้นการใช้เกลือเพื่อล้างคาว มากกว่าเพื่อการถนอมอาหาร เพราะต้องการให้เราได้ลิ้มรสความสด และความหวานของเนื้อปลามากกว่า  (ร้านไหนของยิ่งไม่สด รสชาติของเนื้อปลาก็จะยิ่งเค็ม)

น้ำข้าว โดยปกติร้านข้าวต้มปลาจะหุงข้าวในแบบที่เรียกหุงแบบเช็ดน้ำ โดยการเทน้ำข้าวทิ้ง ในเมื่อคนเป็นโรคไตไม่เหมาะที่จะกินน้ำแกงที่มีการปรุงรส น้ำข้าวจึงเป็นอีกทางเลือก นอกไปจากน้ำเปล่าที่เป้นน้ำดื่มบนโต๊ะ (ฮ่าาา ยังไงก็ได้กินรสชาติที่เรียกว่าจืด)

ที่สำคัญเครื่องปรุงรสที่มีอยู่บนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ไม้จิ้มฟัน (เอ้อ .. อันหลังไม่เกี่ยว) ไม่ควรที่จะนำมาปรุงรสเพิ่ม ยิ่งปรุงเพิ่มรสที่เราทานก็จะยิ่งเค็มมากขึ้น ลิ้นของเราก็จะคุ้นเคยกับความเค็มมากขึ้นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไตของเราเลย

ในกรณีถ้าจะทำข้าวต้มปลากินเองที่บ้าน ต้มข้าวหอมมะลิ เนื้อปลาสดๆ (ทำเองไม่ต้องใช้เกลือด้วย เพราะเราซื้อปลามาสดๆ ลวกน้ำเดือดๆ ทิ้งซักทีก็หายคาวแล้ว) โรยคื่นไฉ่เสียหน่อย  ก็อร่อยไม่รู้ลืม  ถ้าจะให้ดีสำหรับสำหรับผู้ป่วยโรคไต อาหารที่ทำทาน ควรจะทำสดๆ ใหม่ๆ และเสริฟตอนร้อนๆ จะทำให้ผู้ป่วยทานได้ง่ายขึ้นนะคะ

ข้อดีของการกินอาหารรสชาติ “จืด” (เป็นเพื่อนคุณแม่) ทำให้ลักได้เรียนรู้ว่า รส “ธรรมชาติ” ของอาหารนั้นมีความหวาน ความสด อยู่ในตัวของมันเอง แต่การกินอาหารไม่ปรุงรสก็กลายเป็นข้อเสียเช่นเดียวกัน เพราะลิ้นจะไปรับรสชาติอาหารว่า มีรสของเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ หรือ รสชาิติความหอม หวาน อร่อยจากตัววัตถุดิบ

อาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี สดและสะอาด ร้านอาหารก็จะไม่ค่อยปรุงรสจัดจ้านนัก แต่ถ้าร้านไหนมีการปรุงรสอย่างเข้มข้นโดยเน้นรสชาติเค็มปี๋  ทำให้เป็นข้อสังเกตได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารอาจจะไม่สดเท่าไหร่นัก อืมม์ … ดูเหมือนว่าลักจะกลายเป็นคนเรื่องมากในการกินอาหารไปเสียแล้ว.. แต่ก็นะ รสชาติอาหาร คุณภาพอาหาร เรียกว่าอาหารทุกชนิดที่เรากินส่งผลต่อร่างกาย และไตของเราทั้งนั้น ไตของเรา ถ้าเราเองยังไม่รัก แล้วใครจะมารัก ถ้าเรายังไม่ดูแล แล้วใครจะมาดูแล จริงไหม?

เรื่องสำคัญที่คนเป็นโรคไตควรรู้ และระวัง
โรคไตมีหลายสาเหตุและหลายแบบ ทั้งสาเหตุจากโรคเบาหวาน สาเหตุจากโรค SLE ฯลฯ เป็นโรคไตแบบเรื้อรัง แบบเฉียบพลัน ………. ควรถามแพทย์ผู้รักษาให้รู้ว่า เราเป็นโรคไตแบบไหน สาเหตุจากอะไร

โรคไตวายเรื้อรังมี 5 ระยะ การดูแลแต่ละระยะแม้จะใช้หลักการเดียวกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน ……ควรถามและปรึกษาแพทย์ผู้รักษาให้รู้และเข้าใจว่าเราควรดูแลตัวเองอย่างไร

การรักษาโรคไตมีหลายวิธีตามระยะของโรคที่เป็น ….แพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำได้ หรือถ้าสงสัยในการรักษา สงสัยว่าทำไมคนอื่นถึงได้รับการรักษาไม่เหมือนกับของเรา ทั้งยาที่ใช้รักษา ทั้งอาหารที่ถูกแนะนำ ไม่เหมือนกับของเราเลย ถามแพทย์ผู้รักษานะคะ ไม่ต้องกลัวว่าแพทย์จะกัด แม้แพทย์บางคนจะดุไปบ้างแต่รับรองได้ว่าไม่กัดจริงแน่นอน (อย่างมากก็แค่เหน็บ จิกเบาบ้างแรงบ้างตามนิสัย)

เรื่องสำคัญที่สุด  อย่าหลงเชื่ออะไรๆ ที่ใครต่อใคร ที่มาชักชวนให้ทดลองกิน หรือ ซื้อสินค้าที่บอกว่าโรคไตรักษาให้หายได้ เท่าที่ได้พบประสบเจอมาหายนะทั้งนั้นเลย

4 thoughts on “อาหารโรคไต ข้าวต้มปลา(1)

  1. ฮยากขอความคิดเห็นจากคุณลักด้วยคะ สามีของเอ๋ เขาเป็นโรคเบาหวาน,ความดันโลหิตสูง ตอนนี้พอควบคุมได้ แต่มีภาวะโรคไตร่วม BUN=60 Cr=5.3 มีภาวะกระดูกพรุนร่วม กระดูกสันหลังยุบตัว กล้ามเนื้อ กระดูกเจ็บ กินอาหารได้น้อยเบื่ออาหาร เนื่องจากกินยาบำรุงเลือดกับฉีดยาสร้างเม็ดเลือด มันหลายอย่างจนเอ๋ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่เอ๋จะพยายาม คุณลักมีความคิดดีๆอะไรบอกเอ๋ไหมคะ ขอบคุณมากคะ

  2. คุณเอ๋คะ … ให้กำลังใจกันก่อนเลยค่ะ เพราะลักรู้ว่าสิ่งที่คุณเอ๋กำลังเผชิญอยู่เป็นเรื่องที่หนักเอาการ

    คนสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ สามีคุณเอ๋ค่ะ ถ้าเขามีกำลังใจที่ดี และมีความมุ่งมั่นจริงๆ การควบคุมระดับน้ำตาล เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน และ การควบคุมปริมาณโซเดียม เพื่อควบคุมความดันและโรคไต เป็นทางออกเดียวที่จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้

    ต้องเข้าใจว่าโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ โรคไต ไม่มีวันรักษาหายได้นะคะ แต่ชะลอให้เสื่อมช้าลงที่สุดได้ (ห้ามเชื่อคำโฆษณา สารพัดบอก ที่ว่าทำโน่นกินนี่แล้วจะหายจากโรคต่างๆ ได้เด็ดขาดเลยนะคะ)

    หากทั้งคุณเอ๋และสามีพร้อม คุยกับหมอตรงๆ เลยค่ะ คุณหมอจะส่งให้พยาบาล นักโภชนาการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเราต่อค่ะ … (ถ้าไปรพ.เอกชนอาจจะได้รับความสะดวกมากหน่อย แต่ลักเข้ารพ.รัฐบาล เวลานัดหมายจึงเป็นไปตามความสะดวกของเจ้าหน้าที่เป็นหลักค่ะ) เรียนรู้มาแล้ว ลักก็กินอาหารแบบจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต และ โซเดียมไปกับคุณแม่ด้วย .. ลักเชื่อว่าอย่างน้อยก็จะดีต่อสุขภาพตัวเองในอนาคตด้วย (แรกๆ ก็แทบแย่ เพราะรสชาติจืดอย่างไม่คุ้นลิ้นมาก)

    สิ่งสำคัญที่สุด .. ต้องพยายามทำใจยอมรับว่า แม้ว่าการดูแลตัวเองจะชะลอความเสื่อมของโรคได้ แต่ความเสื่อมก็ยังจะเกิดขึ้นจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยภายนอกที่เกินกว่าที่เราจะควบคุมได้ … ไม่ว่าจะอย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้คุณเอ๋และสามีนะคะ

  3. สวัสดีค่ะคุณลัก คุณพ่อเพิ่งตัดไตทิ้ง1ข้างเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกือบ2เดือน คุณหมอให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ก่อนที่จะมาพักฟื้นที่บ้านคุณพ่อยังเดินได้ พูดชัดเจน แต่มาอยู่บ้านวันแรก อาการทรุดเหมือนคนไม่มีแรง เดินนนั่งเองไม่ได้ค่ะ. ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร อยากจะขอคำแนะนำจากคุณลักค่ะว่า ควรปฏิบัติหรือต้องทำยังไงค่ะ เกิดจากสาเหตุอะไร ทานข้าวไม่ค่อยได้เยอะ ไอ และมีเสมหะค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    • การเกิดอุบัติเหตุและต้องนอนพักที่รพ.นาน 2 เดือนเป็นสาเหตุให้ร่างกายคุณพ่อทรุดลง แตกต่างไปจากก่อนเกิดอุบัติเหตุค่ะ

      เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ต้องรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอคือดีที่สุดค่ะ

ใส่ความเห็น