ลักข์ฟังมาเล่า : วิธีแก้ไขเมื่อมีภาวะน้ำตาลสูง-ต่ำ

จิบกาแฟยามสาย สไตล์ลักข์เล่า

วิทยากรบรรยายในงานเสวนาของชมรมฯ เดือนตุลาคม 2561 อ. นพ.วิทวัส แนววงศ์

เรื่อง     “วิธีแก้ไขเมื่อมีภาวะน้ำตาลสูง-น้ำตาลต่ำ”

ความหมายของคำว่าเบาหวานคือ ปัสสาวะที่มีรสหวาน เป็นข้อสังเกตของคนสมัยก่อนที่พบว่ามีมดมาตอมปัสสาวะของผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะบ่อย ผอมลง และหากชิมปัสสาวะของผู้ป่วยนั้นก็จะมีรสหวาน แต่ในปัจจุบันเราไม่ใช้วิธีการตรวจแบบนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะการที่ปัสสาวะออกมาแล้วมีมดมาตอมปัสสาวะหมายความว่าคนๆ นั้นเป็นเบาหวานในระดับที่รุนแรงแล้ว

นิยามของโรคเบาหวานคือ การที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังเกิดจากฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายที่สร้างจากตับอ่อนที่ทำหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงานทำงานผิดปกติโดย

  1. ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ตามปกติ จนทำให้เกิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้มักจะเกิดกับคนอายุน้อย มีอาการเร็ว และรุนแรง ซึ่งนับว่าเป็นความโชคร้ายส่วนบุคคลที่เกิดภาวะภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเองต่อตับอ่อนทำให้ตับอ่อนไม่ทำงาน วิธีการรักษาคือ ต้องฉีดอินซูลินเท่านั้น
  2. ร่างกายไม่สามารถนำฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตออกมาไปใช้ได้ เรียกว่าร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เป็นเบาหวานจะเป็นแบบนี้ มักเกิดในผู้ใหญ่ ที่มีกรรมพันธุ์เบาหวาน อาการที่เกิดจะเกิดขึ้นช้าๆ สามารถเริ่มต้นการรักษาด้วยการกินยาได้ เรียกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เมื่อเป็นเบาหวานในระยะที่ยาวนาน ตับอ่อนก็จะเสื่อมลงไปจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาได้เช่นกัน

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 บางปัจจัยก็ป้องกันได้ เช่น ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย กินเก่ง หากปรับวิถีชีวิตก็ป้องกันได้ แต่บางปัจจัยก็ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุ อายุยิ่งมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน เชื้อชาติ คนยุโรปความเสี่ยงน้อย คนไทย จีน ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานปานกลาง เชื้อชาติแขกอินเดีย และตะวันออกกลางความเสี่ยงสูง กรรมพันธุ์ หากมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานความเสี่ยงก็จะสูงตามด้วย

45591731_10216159991966812_4364516002071838720_o

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแบ่งเป็น 2 แบบคือ

  1. ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง เกิดกับเส้นเลือด หลอดเลือดขนาดเล็ก – ไต, ตา, ปลายประสาท หลอดเลือดขนาดใหญ่-หัวใจ, สมอง, ขา
  2. ภาวะแทรกซ้อนแบบฉับพลัน คือ ระดับน้ำตาลสูงและระดับน้ำตาลต่ำ

ระดับน้ำตาลสูงระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะไปทำลายร่างกายโดยทำให้การทำงานของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ เสื่อมลง ระดับน้ำตาลสูงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันแบ่งเป็น 2 แบบ

  1. ระดับน้ำตาลสูงและมีคีโตนคั่ง หรือที่เรียกว่า DKA ซึ่งมีอันตรายมากเพราะทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งเมื่อเกิดภาวะนี้ ร่างกายจะพยายามขับกรดออกมาทางลมหายใจทำให้คนที่มีภาวะคีโตนคั่งหายใจหอบ
  2. ระดับน้ำตาลสูงและโคม่า คือ เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกิน 600 มก./ดล. จนทำให้เลือดข้นหนืด ไม่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ไปเลี้ยงหัวใจ

อาการของผู้ที่มีระดับน้ำตาลสูง กระหายน้ำ คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ตาพร่ามัว กระตุก

วิธีช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นเมือมีภาวะน้ำตาลสูงคือ การดื่มน้ำ และหากระดับน้ำตาลสูงเกิน 600 มก./ดล.ควรไปโรงพยาบาล

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลสูงคือ กินยาหรือฉีดอินซูลินให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพิ่มการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันแล้วทำให้เป็นประจำ นอกจากจะเจาะเลือดก่อนอาหารแล้ว ควรเจาะเลือดหลังอาหาร 2 ชั่วโมงด้วย

ระดับน้ำตาลต่ำหมายถึงเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าต่ำกว่า 70 มก./ดล.  และระดับน้ำตาลต่ำแบบรุนแรงมากคือ ต่ำกว่า 54 มก./ดล. (รุนแรงคือเริ่มเข้าสู่ภาวะอันตราย เพราะหลายคนเริ่มมีอาการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้)

อาการของน้ำตาลต่ำ ใจสั่น เหงื่ออก หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น อารมณ์เริ่มหงุดหงิด ฉุนเฉียว ปวดศรีษะ มึนงง หน้ามืด ตาลาย ฝันร้าย เมื่อมีอาการเหล่านี้ห้ามปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อดูระดับน้ำตาล และหาของกินเพื่อแก้ระดับน้ำตาลต่ำโดยเร็ว เพราะถ้าทิ้งไว้อาจเกิดอาการน็อกหมดสติจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

วิธีช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นเมือมีภาวะระดับน้ำตาลต่ำคือ กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว 15 กรัม เช่น ลูกอม 3 เม็ด หรือ น้ำอัดลม ½ กระป๋อง หรือ น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา หรือ นมหวาน 1 แก้ว เป็นต้น รอ 10 นาที หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้กินซ้ำ แต่ถ้าไม่มีอาการแล้ว ก็รอกินอาหารตามมื้ออาหารตามปกติ  ที่สำคัญควรเจาะเลือดด้วยว่าใช่ภาวะของระดับน้ำตาลต่ำ ไม่ใช่คิดไปเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลต่ำได้ คือ กินน้อยกว่าปกติ, ปริมาณยาที่ได้รับมากเกินไป, มีภาวะเจ็บป่วย, จากการออกกำลังกายนานกว่าปกติ. การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเราต้องหาสาเหตุของตัวเองให้เจอว่าเกิดจากเหตุใด จะได้ทำการป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก

วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ กินอาหารให้เป็นเวลา และกินในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน เจาะเลือดก่อนฉีดอินซูลินทุกครั้ง ฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่งดและไม่ลดการฉีดอินซูลินเอง ถ้าจะออกกำลังกายเกิน 30 นาทีแนะนำให้กินคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน 15 กรัมก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง

ความเจ็บป่วย กับ ระดับน้ำตาล

คนเป็นเบาหวานที่มีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (A1C) สูง มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย โอกาสการติดเชื้อสูง ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อเป็นหนอง การติดเชื้อในสมอง เป็นปอดบวมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีค่า A1C ต่ำกว่า 7% จะไม่ค่อยพบปัญหาการติดเชื้อในร่างกายเท่าไหร่

เมื่อคนเรามีภาวการณ์เจ็บป่วย ระบบในร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายของเราสูงขึ้น ต่อให้เราเจ็บป่วยและกินอาหารได้น้อยกว่าปกติระดับน้ำตาลก็จะสูงกว่าปกติเพราะฉะนั้นเรื่องที่ต้องระวังของคนเป็นเบาหวานในยามเจ็บป่วยคือ ห้ามหยุดยาเบาหวานเองโดยเด็ดขาด เพราะในยามเจ็บป่วยนอกจากฮอร์โมนในร่างกายจะมีการสร้างน้ำตาลขึ้นมาเองแล้ว ยังมีภาวการณ์ต้านอินซูลินมากกว่าปกติอีกด้วย การหยุดยาเบาหวานเองในยามเจ็บป่วยของผู้ที่เป็นเบาหวานจึงทำให้ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีอาการรุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าหากมีความเจ็บป่วยในลักษณะที่มีอาการกินไม่ได้ ร่วมกับการอาเจียน ท้องเสีย มีไข้ การเจ็บป่วยในลักษณะนี้จะทำให้ระดับน้ำตาลต่ำได้

วิธีดูแลตัวเองในยามเจ็บป่วยของคนที่เป็นเบาหวานคือ ไม่ควรงดยาฉีดหรือยากินเอง โดยจะต้องหมั่นเจาะเลือดดูระดับน้ำตาล ถ้ามีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติให้ไปพบแพทย์ ถ้าระดับน้ำตาลต่ำกว่าปกติ งดยาฉีดลงครึ่งหนึ่งแล้วไปพบแพทย์ แล้วต้องรักษาสาเหตุของความเจ็บป่วยให้หาย

ที่มา : จากบทความจิบกาแฟยามสาย สไตล์ลักข์เล่า ที่พิมพ์ลงในจดหมายข่าวของชมรมเบาหวาน รพ.จุฬาลงกรณ์ ฉบับที่ 168 เดือนพฤศจิกายน 2561